ยานอนหลับ เป็นยาที่คนทั่วไปมักใช้เรียกกลุ่มยาที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น โดยไม่ทราบกลไก หรือประโยชน์ที่แท้จริงของยาเหล่านั้น และหลาย ๆ คนไม่ได้ต้องการรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ตนเองนอนไม่หลับ หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน ที่ช่วยให้การนอนหลับนั้นง่ายขึ้น และมีคุณภาพ ปัจจุบันการจะใช้ยานอนหลับจะต้องได้รับการแนะนำจากแพทย์ เพราะยานอนหลับทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยงในการใช้
จากงานวิจัยของ นพ. Daniel Kripke จากมหาวิทยาลัย California San Diego เน้นย้ำถึงผลกระทบจากยานอนหลับที่มีผลต่อคนไข้แม้ว่าจะเป็นการสั่งยานั้นจากแพทย์โดยตรง โดยเขาพบว่า ผู้ที่ใช้ยานอนหลับจะมีโอกาสเสียชีวิตและเป็นมะเร็งสูงกว่าคนที่ไม่ใช้ยานอนหลับหลายเท่า โดยในศตวรรษที่ 21ผู้ป่วยที่นอนไม่หลับเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนใบสั่งยานอนหลับในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาเข้ามาศึกษาความเสี่ยงจากการใช้ยานอนหลับ โดยการศึกษาในคนกว่า 10,000 คน พบว่าส่วนใหญ่ใช้ยา Zolpidem มีบ้างที่ใช้ยา Tamazepam เทียบกับคน 20,000 คนที่ไม่ได้ใช้ยานอนหลับ โดยให้เพศสภาพ อายุ เชื้อชาติ และภูมิหลังมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงดัชนีมวลกาย ประวัติการออกกาลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ในเวลา 2.5 ปี ผู้ที่ใช้ยานอนหลับมีแนวโน้มจะเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ไม่ใช้ยาถึง 4.6 เท่า และเพิ่มขึ้นตามความถี่ของการใช้ยา โดยกลุ่มที่ใช้ยามากกว่า 132 เม็ดต่อปีมีโอกาสเสียชีวิตระหว่างการศึกษาสูงกว่าผู้ที่ไม่ใช้ถึง 5.3 เท่า แม้แต่คนที่ใช้ยาไม่บ่อยเพียง 18 เม็ดต่อปีจะมีโอกาสเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาประเมินมากกว่าผู้ที่ไม่ใช่ยาถึง 3.6เท่า
สาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ
- การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งเป็นผลจากการที่มีอาการวิงเวียนตกค้างหลังจากตื่นนอน แล้วต้องเร่งรีบไปขับรถยนต์ขณะที่ร่างกายยังไม่ฟื้นตัวจากฤทธิของยา ในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะหกล้มตอนกลางคืนสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
- อัตราการติดเชื้อสูงกว่าปกติ เพราะการนอนหลับตามธรรมชาติมีส่วนช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันการติดเชื้อ แล้วทำไมการนอนหลับที่ดูเหมือนจะดีขึ้นจึงให้ผลในทางที่ตรงข้าม
- ความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งอีก 30-40 % โดยเฉพาะใน Zolpidem และ Tamazepam ซึ่งการเกิดมะเร็งนี้เกิดได้ทั้งในคนและสัตว์ โดยมีรายงานของมะเร็งในสัตว์ เช่น หนูขนาดใหญ่และเล็กที่ได้รับยานอนหลับจะมีอัตราการเกิดมะเร็งสูงกว่าปกติ
กลุ่มยานอนหลับที่มีการนำมาใช้ แบ่งได้เป็น
- กลุ่มยา Barbiturates ซึ่งเป็นยากลุ่มแรกที่่ได้ช่วยคนนอนไม่หลับ แต่ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่ อันตรายจากการใช้ยาเกินขนาด และโอกาสในการติดยาทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น Pentobarbital, Thiopental
- ยาในกลุ่ม Benzodiazepine ซึ่งค้นพบในช่วงต่อมา และได้รับความนิยม เช่น Estazolam, Eszopiclone เป็นกลุ่มยาที่ช่วยให้นอนหลับได้เร็วขึ้นมาก และช่วยให้หลับได้ยาวนาน จึงไม่ควรทานยานี้ถ้าไม่มีเวลานอนยาวนานพอ 7-8 ชั่วโมง Ramelteon, Temazepam, Triazolam, Zaleplon, Zolpidem เป็นกลุ่มยาที่ช่วยให้คนที่ตื่นกลางดึกกลับมานอนได้ง่าย และรู้สึกง่วงอยู่นาน แต่การทานยานี้ไม่ควรขับรถหรือทำงานเสี่ยงในวันรุ่งขึ้น และควรมีเวลานอนยาวนาน 7-8 ชั่วโมง Suvorexant เป็นกลุ่มยาที่ช่วยหยุดฮอร์โมนที่ช่วยให้ตื่นแต่ผลข้างเคียงของยานี้จะทำให้มีอาการง่วงนอนตลอดในวันรุ่งขึ้น้
- กลุ่มยาลดอาการซึมเศร้า ซึ่งมีฤทธิควบคุมอาการวิตกกังวล ได้แก่ Amitriptyline, Doxepin แต่ยากลุ่มนี้จะต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่องอย่างรุนแรง หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจเต้นผิดปกติ
- กลุ่มยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้ ซึ่งโดยธรรมชาติใช้ในการลดอาการแพ้ แต่่ใช้ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการง่วงนอนมาใช้ในการช่วยการนอนหลับ แต่ต้องระวังอาจมีใจสั่น ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ในเด็กเล็กอาจจะทำให้เกิดอาการหลอนได้
- ยากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ยาแก้ปวดที่มีฤทธิเสพติดด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มพวกมอร์ฟีนโดยมีฤทธิในด้านการระงับอาการปวดอย่างเฉียบพลันและรุนแรง แต่ก็มีฤทธิช่วยให้สลบจากการระงับประสาท คลายกังวล ซึ่งนำมาใช้ก่อนผ่าตัด ช่วยให้การดมยาสลบเร็ว และมีอันตรายน้อยลง ยาที่มีฤทธิรักษาโรคจิต ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการง่วงได้ แต่ผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น อาการชัก มีอาการคล้ายกับคนที่เป็น Parkinson ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนอิริยาบท ฯลฯ
- กลุ่มที่ช่วยให้นอนหลับยาวนาน ได้แก่ Doxepin, Estazolam, Eszopiclone, Temazepam, Zolpidem, Suvorexant
หากจะไม่ใช้ยานอนหลับ เราจะใช้อะไรทดแทนได้ มีหลายรายงานแนะนำการใช้ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมสำหรับกลุ่มอาการนอนไม่หลับที่เรียกว่าCognitive Behavioral Therapy for Insomnia และควรใช้แนวทางนี้ก่อนเป็นอันดับแรกก่อนการใช้ยา เริ่มด้วยการควบคุมสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การเข้านอนเมื่อเหนื่อย หรือง่วง งดกิจกรรมบนเตียงให้เตียงมีเพื่อใช้นอนเท่านั้น เข้านอนและตื่นนอนตอนเช้าให้เป็นเวลาสม่ำเสมอ ตื่นแล้วย้ายไปห้องอื่นหรือหากนอนไม่หลับใน 10 นาทีให้ย้ายไปห้องอื่น หลีกเลี่ยงกาแฟ นิโคตินิ (การสูบบุหรี่่) การดื่มแอลกอฮอล์ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน หากหิวก่อนนอนอาจให้ทานนมหรือเนยถั่วได้้ นอกจากนี้ควรฟังเพลงเบา ๆ การอ่านหนังสือก่อนนอนจะช่วยให้ผ่อนคลาย หรือการอาบน้ำอุ่นก็จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการชมภาพยนตร์ หรือการทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีแสงสว่างเกิน ทำห้องนอนให้เงียบและมืด และยังมีเทคนิคอื่นอีก เช่น การจำกัดเวลานอนของผู้ที่นอนไม่หลับ โดยให้นอนเพียง 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น โดยหวังว่าเมื่อตื่นอยู่นานขึ้นจะเป็นการสะสมแรงกระตุ้นให้หลับในระดับที่เข้มข้นขึ้น คือ หลับเร็วขึ้น และการหลับมีความเสถียรต่อเนื่องได้ตลอดคืน และยังเรียกคืนความมั่นใจทางจิตวิทยาว่าพวกเขานอนหลับได้ด้วยตนเอง ข้อดีของเทคนิคต่าง ๆ ทางการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม คือ
- ช่วยให้คนหลับเร็วขึ้น และนานขึ้น คุณภาพการนอนดีขึ้นอย่างคงเส้นคงวา โดยลดระยะเวลาที่ตื่นตอนกลางคืนลงอย่างมาก และยังมีฤทธิอยู่ยาวแม้เลิกรักษากับนักบำบัดแล้ว
- ความเสี่ยงมีน้อยมาก หรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับยานอนหลับ
แต่อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายกับการนอนหลับมีความสัมพันธ์กันพอสมควร ซึ่งพบได้ว่าการหลับลึก และหลับสนิท มักจะเกิดขึ้นหลังจากทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น ขี่จักรยานระยะไกล เดินทางไกล โดยมีรายงานในปี 1975 ที่พบว่า เมื่อเพิ่มระดับการออกกำลังกายในชายสุขภาพดี จะส่งผลให้พวกเขานอนหลับลึกแบบไม่ฝัน (NREM) ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างสอดคล้องกันในคืนต่อ ๆ มา แต่เมื่อมีการศึกษาในนักวิ่งที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กับคนที่ไม่วิ่งในกลุ่มอายุเดียวกัน เพศเดียวกัน ไม่พบปริมาณการหลับลึกแบบไม่ฝัน (NREM) สูงมากกว่าในนักวิ่งอย่างเด่นชัด แต่อาจจะพบว่าการออกกำลังกายเพิ่มการนอนหลับในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคน หรือผู้สูงวัย โดยจะตื่นกลางดึกน้อยลง และนอนหลับได้เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งชั่วโมงต่อคืน แต่ไม่ได้มีผลดีคงเส้นคงวาในวันที่ออกกำลังกาย เมื่อเทียบกับวันที่่ไม่ออกกาลังกาย แต่พบว่าหากนอนหลับไม่ได้ในคืนก่อนหน้า ความหนักหน่วงและระยะเวลาการออกกำลังกายในวันนั้นจะลดน้อยลงมาก และหากนอนหลับดีในคืนก่อนหน้า ระดับการออกกำลังกายในวันต่อมาจะพุ่งขึ้นงสูงสุดอย่างทรงพลัง
การนอนหลับนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อระดับการออกกาลังกายสูงขึ้น น่ันคือชีวิตที่นั่งอยู่กับที่ไม่ช่วยให้นอนหลับสนิท การออกกำลังกาย และการนอนหลับที่สนิทจะช่วยลดสัญญาณของภาวะซึมเศร้า อันเป็นผลจากการกระฉับกระเฉง ร่างกายแข็งแรงขึ้น วัฏจักรเชิงบวกของกิจกรรมของร่างกายและจิตใจจะดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกาลังกายก่อนนอน เพราะอุณหภูมิของร่างกายจะยังสูงในช่วง 1-2 ชั่วโมงหลังการออกกาลังกาย และยากที่จะลดระดับอุณหภูมิภายในร่างกายลดให้มากพอที่จะหลับได้ดี
ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์
(https://minsenconcept.com/ยาช่วยให้นอนหลับ/)
Cover designed by Freepik