การนอนในแต่ละแบบของคน

การนอนให้เพียงพอเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชีวิต การนอนหลับที่มีคุณภาพไม่ได้ขึ้นกับปริมาณหรือจำนวนชั่วโมง แต่ยังขึ้นกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้านอนอีกด้วย สำหรับกลุ่มคนที่เป็นพวกตื่นเช้า ควรที่จะเข้านอนระหว่างเวลา 22.00-23.00 น. เนื่องจากระบบนาฬิกาของร่างกาย จะสั่งให้สมองเริ่มหลั่งฮอร์โมน Melatonin ในช่วงเวลา 21.00-22.00 น. และไปสูงสุดในช่วงเวลา 2.00 น. โดยฮอร์โมนนี้จะเกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับที่เรียกว่า Circadian Rhythm อยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วน Hypothalamus ที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน Melatonin ที่เกิดขึ้นเป็นวงจรประมาณรอบละ 24 ชั่วโมง 15 นาที โดยขณะที่นอนหลับร่างกายจะลดการเคลื่อนไหวและการเผาผลาญพลังงาน แต่ระบบการทำงานของระบบประสาท และระบบฮอร์โมนอาจจะเพิ่มขึ้น แต่มีคนอีกมากมายที่มีปัญหาในการนอน หรือนอนหลับไม่ดี และได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการนอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่อง Chronotype เป็นการบอกว่าเราควรนอนแบบใดให้เหมาะสมกับตัวเราเอง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน และถูกกำหนดโดยพันธุกรรม โดยแบ่งง่าย ๆ เป็น 3-4 แบบ

  • คนตื่นเช้า 40 %  หรือ 10 %
  • คนกลางคืน 30 % หรือ 10 %
  • คนระหว่างกลาง 30 % หรือ 80 %

แต่ ดร. Breus มีการแบ่งออกเป็น 4 แบบ โดยเปรียบเทียบกับสัตว์ต่าง ๆ เช่น

  • โลมา จะมีปัญหาการนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ เหมือนปลาโลมาที่ต้องคอยระวังนักล่าในท้องทะเล มักจะเป็นกลุ่มคนที่รูปร่างดี คิดมาก รอบคอบ ทำงานหนัก พยายามเก็บตกทุกรายละเอียด ชอบความสมบรูณ์แบบ ทำงานคนเดียวดีกว่าทีม
  • สิงโต เป็นพวกตื่นเช้า แข็งขันตอนเที่ยง และง่วงนอนช่วงบ่าย เป็นคนเอาการเอางาน มองโลกในแง่ดี มีพรสวรรค์ในการจัดการสมดุลระหว่างงานกับสุขภาพ ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มักเป็นพวกเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูง
  • หมี เป็นพวกตื่นยากช่วงเช้า เหมาะกับการทำงานช่วงสายถึงบ่าย เหนื่อยง่ายช่วงเย็น ต้องนอนไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เป็นกลุ่มที่ชอบเข้าสังคม เปิดกว้างทางความคิด หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แสวงหาความสุข ทำให้คนรอบข้างอยู่อย่างสบายใจ
  • หมาป่า ชอบนอนดึก ตื่นเช้าได้โดยไม่เหนื่อย นอนไม่เป็นเวลา เสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือเบาหวาน เป็นคนที่ฉุนเฉียวง่าย มองโลกในแง่ร้าย มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเสี่ยงทุกสถานการณ์ มีปฏิกิริยากับคนอื่นแบบรุนแรง ทำงานกับพวกเขาต้องอดทน

มีการกล่าวถึง Circadian Rhythm ซึ่งเป็นการจัดการกับจังหวะของชีวิตที่มีการแตกต่างกันในแต่ละคน คือ ทำให้ทุกคนหลับในวิธีเดียวกันและเวลาเดียวกันย่อมเป็นไปได้ยาก แม้หลายคนจะเชื่อว่าสัมพันธ์กับการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากที่ยังต้องการการศึกษา และเมื่อ Circadian Rhythm ถูกรบกวน หรือทำงานไม่เหมาะสมกับปัจจัยภายนอก เราจะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย เพราะการนอนจะช่วยให้มีการฟื้นฟูร่างกาย การซ่อมแซมตนเอง การลดการอักเสบ การสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงช่วยในระบบความจำ ฯลฯ

การศึกษาเกี่ยวกับระบบประสาท และการนอนฝันของ Charle Morley เชื่อว่า Suprachiasmatic Nucleus ที่อยู่ด้านหลัง Hypothalamus และอยู่ด้านหลังดวงตานั้นเป็นส่วนที่ไวต่อแสง จะส่งสัญญาณไปยังต่อมไพเนียล ซึ่งจะควบคุมการสร้าง Melatonin

ทำไมแต่ละคนมีเวลานอนที่แตกต่างกัน การศึกษารูปแบบการนอนของคนเผ่า Hadza ใน Tanzania ที่เผ่านี้ยังคงดำรงชีวิตแบบล่าสัตว์ Hunter-Gartherer ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของมนุษย์ การดำรงชีวีตอยู่แบบนี้ต้องอาศัยการอยู่เป็นหมู่คณะถึงจะเอาตัวรอด การศึกษานี้ในกลุ่มคน 33 คน อายุ 20- 60 ปี ด้วยการติดนาฬิกาเพื่อติดตามกิจกรรมยามกลางคืนของพวกเขา 20 วัน พบว่าพวกเขาแตกต่างกัน แทบไม่มีใครที่เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกัน มีช่วงเวลาเพียง 1 นาที ที่พบว่าทุกคนหลับพร้อมกันหมด ทำให้เชื่อว่ามนุษย์น่าจะถูกออกแบบมาให้มีเวลาเข้านอน และเวลาที่มีกิจกรรมต่าง ๆ แตกต่างกันไป เพื่อช่วยกันในการเอาตัวรอด และระวังภัยในหมู่คณะนั่นเอง

แต่ในสังคมสมัยใหม่ คนกลางคืนถูกบังคับให้เป็นมนุษย์กลางวัน และคนกลางคืนจะกลายเป็นคนที่เกียจคร้าน และทำให้ศักยภาพของเราหายไปเมื่อต้องมาอยู่ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยมาจาก Chronotype ที่แตกต่างกัน โดยมาจาก Clock Gene (PER3 Genes) ที่แตกต่างกันไปตั้งแต่กำเนิด และพ่อแม่ของเรามักจะเป็นต้นแบบให้กับเรา แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างและอายุก็มีผล ในเด็กจะมีแนวโน้มเป็น Early Chronotype วัยรุ่นจะเป็น Late Chronotype โดยอายุที่เป็นจุดสูงสุดในชายจะอยู่ที่ประมาณ 19 ปี และในหญิงประมาณ 21 ปี แล้วจึงจะกลับมาเป็น Early Chronotype อีกครั้งเมื่ออายุมากขึ้น

การปรับเลื่อนเวลาเข้าเรียนในตอนเช้าให้สายออกไปราว 1 – 1.5 ชั่วโมง ส่งผลดีต่อสุขภาพและพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนวัยรุ่นในโรงเรียนCherry Creek ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเข้าเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมต้นออกไป 50 นาที และนักเรียนมัธยมปลายออกไป 1 ชั่วโมง 10 นาที ในปี 2017 การทดสอบกับนักเรียน 15,000 คน พบว่าการนอนหลับของนักเรียนดีขึ้นต่อคืน การง่วงนอนและเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำการบ้านให้เสร็จในตอนค่ำลดลง รวมถึงการงีบหลับในชั้นเรียนก็ลดลงด้วย ในปี 2008 Melisa Moore และคณะ พบว่าวัยรุ่นน้อยรายที่จะมีการนอนที่เพียงพอตามที่กำหนด ทำให้เกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน โดยมากเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก เช่น เวลาเรียนที่ต้องเริ่มค่อนข้างเช้า แนวทางแนะนำคือ การเข้านอนได้เร็วพอที่จะตื่นแต่เช้าโดยไม่รู้สึกมึนงงหรือเหนื่อยล้าที่โรงเรียน หรือการเลื่อนเวลาเข้าเรียนให้สายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่น เพราะการนอนสำคัญต่อการพัฒนาการของร่างกาย อารมณ์ และการเรียนรู้ของหนุ่มสาว การศึกษาของ Judith A Owen ในปี 2010 ที่ศึกษาใน Rhode Island หลังจากเลื่อนเวลาเรียนตอนเช้าให้ช้าลง 30 นาที ส่งผลให้การนอนของนักเรียนช่วงกลางคืนดีขึ้น 45 นาที และทำให้นักเรียนนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงลดลงถึง 79.4% ยังพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจมากขึ้น เพิ่มแรงจูงใจและประสบการณ์ในการเรียนรู้ รวมถึงลดความเหนื่อยล้าและอารมณ์แปรปรวน

การศึกษาเกี่ยวกับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากตื่นมาสู่การนอนหลับ ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้จะแตกต่างกันในแต่ละคน โดยงานวิจัยที่ได้ทุนจาก Cambridge Gates ในเมืองแชนไนของอินเดีย ได้เชื่อมโยงภาวะก่อนหลับกับอุบัติเหตุและข้อผิดพลาดที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันที่เราทำงาน โดยที่บางคนอาจดูเหมือนกับตื่นแต่ร่างกายเริ่มเข้าสู่ช่วงหลับ ทำให้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

หากเราทำงานที่น่าเบื่อ เราอาจไม่ได้เข้าสู่ภาวะหลับลึก แต่เป็นช่วงที่ง่วงซึมเราจึงไม่รู้สึกตื่นตัว ซึ่งช่วงจวนจะหลับนี้ อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ รวมถึงความปลอดภัยในการขับรถและงานที่ต้องใช้สมาธิ ภาวะง่วงซึมดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับจินตนาการและการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เราจะยับยั้งชั่งใจได้น้อยลงในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทำให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น มีอิสระในการแสดงออกถึงความเป็นตัวตน และกล้าทำพลาด ซึ่งศิลปิน นักดนตรี และนักเขียน มักจะได้รับแรงบันดาลใจในช่วงเวลานี้

ความคิดที่ว่าคนนอนหลับไม่รู้เวลานั้นไม่เป็นความจริง พบเห็นได้จากผู้ที่ต้องรีบตื่นเช้าไปขึ้นเครื่องบินหลาย ๆ คนสามารถตื่นนอนได้เองเพียงไม่กี่นาทีก่อนนาฬิกาจะปลุกด้วยซ้ำ มีความแม่นยำในการคาดคะเนจังหวะเวลาค่อนข้างสูง แต่การบังคับให้ตัวเองหลับนั้นค่อนข้างยาก จากการทดลองให้แรงจูงใจเป็นเงินรางวัลกับกลุ่มตัวอย่างที่สามารถนอนหลับได้เร็วที่สุด ปรากฏว่าความกดดันจะต้องรีบหลับก่อให้เกิดผลตรงกันข้าม คือ หลับยากขึ้น แต่แรงจูงใจเชิงบวกจะได้ผลค่อนข้างดีกว่า

ความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกับโลกภายนอก ผู้ที่นอนหลับอาจไม่ตอบสนองต่อเสียงและคำพูด แต่มีแนวโน้มที่จะตื่นได้มากกว่าหากได้ยินชื่อคน เนื่องจากสมองของมนุษย์ไม่ได้ทำงานเพราะได้ยินเสียง แต่จะตอบสนองกับสิ่งที่มีความหมายกับแต่ละบุคคล

การศึกษาของ Stuart McFarleane พบว่าอาการงัวเงียมักเกิดในตอนเช้าเป็นระยะเวลา 30 นาที แต่ในบางคนอาจอยู่ได้นาน 2-4 ชั่วโมง การตื่นไม่เต็มที่หรืองัวเงียนี้สัมพันธ์กับอุบัติเหตุสำคัญ ทั้งเครื่องบินตกและอุบัติเหตุจากการขนส่งต่าง ๆ การเปลี่ยนท่วงทำนองของเสียงดนตรีอาจจะช่วยให้ตื่นตัวดีขึ้นหลังจากตื่นนอน รวมถึงการเปิดไฟบริเวณหัวเตียง เพื่อปลุกดวงตาให้แสงเข้ามา จะช่วยให้กระชุ่ม่กระชวยขึ้นได้ แต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Leeds โดยสอบถามพฤติกรรมการนอนและการทานอาหารในคนกว่า 1,600 คน พบว่าคนที่มีปัญหากับการนอนมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนได้ง่าย นั่นคือคนที่นอน 6 ชั่วโมงต่อคืนโดยเฉลี่ยจะมีรอบเอวมากกว่าคนที่นอน 9 ชั่วโมงต่อคืน ประมาณ 3 ซม. และมีระดับไขมันดี (HDL) ต่ำกว่าคนที่นอนมากกว่า แต่ที่น่าสนใจคือ คนที่นอนน้อยไม่ได้ทานอาหารที่แตกต่างจากคนที่นอนมาก

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Lausanne พบว่าการงีบหลับเป็นเวลาสั้น ๆ 5-60 นาที ในช่วงกลางวันเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองลงได้เกือบครึ่ง โดยศึกษาในคนวัย 35-75 ปี จำนวน 3,462 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี แต่การนอนกลางวันบ่อยและนานเกินไปไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามไปด้วย อย่างไรก็ตามการนอนของแต่ละคนอย่างเพียงพอนั้นไม่เท่ากัน แต่ประมาณ 7-9 ชั่วโมงจึงจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/การนอนในแต่ละแบบของคน/)

Cover designed by Freepik