การตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นเรื่องที่หลายประเทศดำเนินการได้ค่อนข้างดี แต่การตรวจหาสายพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อจากการรายงานของ GISAID พบว่า ประเทศที่รายงานการตรวจหาสายพันธุ์ที่ดีที่สุด คือ ออสเตรเลีย ซึ่งตรวจได้มากกว่า 58% รวมถึงนิวซีแลนด์ที่ตรวจได้ถึงกว่า 48 % ตามมาด้วยไต้หวัน เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ แกมเบีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร ประเทศไทย และญี่ปุ่น แต่ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นอันดับที่ 43 โดยมีการตรวจหาการกลายพันธุ์เพียง 0.3%
การตรวจหาการกลายพันธุ์ ทำให้ทราบว่าเชื้อที่วิตกกังวลกันหนักช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา คือ N501Y ของอังกฤษ อยู่ใน clade GR ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่ส่วนยื่นของโปรตีนหลายแห่ง (deletion 69-70, deletion 145, N501Y, A570D, D614G, P681H, T716I, S982 A, D1118H) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้เกาะกับเซลล์ร่างกาย
และการกลายพันธุ์ที่พบในอัฟริกาใต้ ที่รายงานเมื่อ 21 ธันวาคม ซึ่งพบถึง 301 genomes เรียก 501 V2 มี 182 ที่อยู่ใน clade GH, 71 จาก clade GR, 45 จาก clade G และพบมีเพียงสามส่วนที่เกาะกับเซลล์ภายนอก (K417N, E484K, N501Y) สรุปคือการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้ไวรัสระบาดได้ง่ายขึ้นกว่าไวรัสรูปแบบเดิม ๆ ที่ระบาดอยู่ และสายพันธุ์ที่อังกฤษพบตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 นี้ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม 70% และพบการกลายพันธุ์บนผิวโปรตีนที่ไวรัสใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ ส่งผลให้วัคซีน และแอนติบอดีที่คาดว่าจะทำงานพุ่งเป้าไปที่ผนังโปรตีนเหล่านี้ทำงานได้ผลน้อยลง
มาเรีย แวน เคิร์กฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ไวรัสตัวใหม่นี้ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอาการ หรือความรุนแรงของโรค และทางบริษัท Eli Lily ได้ชี้แจงว่ายาของบริษัทที่ใช้รักษานี้เป็นยาที่เป็นแอนติบอดี้ที่เรียกว่า Monoclonal antibody เช่นเดียวกับของบริษัท Regeneron ที่ไปจัดการกับเชื้อที่จุดโปรตีนที่ยื่นออกมาอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีการพัฒนามาใช้ในการรักษามะเร็ง และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยสำหรับ COVID-19 จะช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 60% ( วันที่ 8 ตุลาคม ทางบริษัท Eli Lily ได้ตกลงกับมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ในการจะผลิตยาที่โรงงานเทคโนโลยีชีวภาพที่ Fujifilm Disynth ประเทศเดนมาร์ก เพื่อช่วยประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง)
สำหรับวัคซีนในปัจจุบันยังมีประสิทธิผลต่อไวรัสรูปแบบใหม่นี้ โดยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ทางการอังกฤษยังย้ำว่าไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าไวรัสรูปแบบใหม่จะส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดีเพื่อป้องกันไวรัสเฉพาะตัว และยังเร่งให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโรคโดยรวมด้วย จึงคาดหวังว่าวัคซีนที่มีอยู่นี้จะต้านไวรัสรูปแบบใหม่นี้ได้
ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงการติดไวรัสกลายพันธุ์ คือการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทีคนหนาแน่น เพื่อไม่ให้ไวรัสระบาดมากขึ้น ยิ่งไวรัสระบาดมากขึ้นโอกาสกลายพันธุ์ก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์
(https://minsenconcept.com/การกลายพันธุ์ของ-covid-19/)
Cover designed by Freepik