หลายฝ่ายกังวลต่อการระบาดรอบสองของ COVID-19 ในประเทศไทย และเกรงว่าการระบาดนั้นจะส่งผลรุนแรงคล้ายกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนที่ทำให้คนเสียชีวิตมากกว่ารอบแรก แต่ในยุคปัจจุบันสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมาก
การระบาดระลอกใหม่ นักวิชาการหลายรายเชื่อว่ามีแน่ อาทิ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ฯลฯ และน่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนกันยายน ของปี 2020 นี้ แต่ความรุนแรงนั้นจะขึ้นกับ
- ไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์ ความสามารถในการแพร่กระจาย รวมถึงความรุนแรงของสายพันธุ์
- มาตรการในการดูแลการเปิดและปิดเมือง ในการควบคุมและสื่อสารเพื่อให้เกิดการปฏิบัติการจริงได้อย่างไร รวมถึงมาตรการนั้นมีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด
- ความสามารถในการติดตามผู้สัมผัสโรค และการกักตัวว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
- ความร่วมมือภาคประชาชนในการป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง และการควบคุมกิจกรรมทางสังคมที่มีความเสี่ยงแบบที่เราทำได้ดี รวมถึงติดตามเฝ้าระวังในกลุ่มพวกเรากันเอง
การแบ่งกลุ่มประเทศการเกิดการระบาดระลอกใหม่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม (ยกเว้นกลุ่มที่มีการระบาดอยู่แล้ว และยังระบาดต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ) ได้แก่
- กลุ่มที่ระบาดและควบคุมได้แล้วยังไม่ระบาดใหม่ เช่น จีน ไต้หวัน ไทย รวมทั้งอิตาลี และยุโรป หลายประเทศที่เคยระบาดหนักมาแล้ว อาจจะหมายรวมประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีการติดเชื้อใหม่ในประเทศทุกวัน แต่ไม่เกินความสามารถของระบบสุขภาพของประเทศที่จะรองรับได้
- กลุ่มที่ระบาดแล้วคุมได้แล้วมีการระบาดระลอกใหม่ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น อิสราเอล และโครเอเทีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเท่าหรือมากกว่าเก่า
สำหรับประเทศไทย มีขีดความสามารถในการรับผู้ป่วย COVID อาการหนัก มีแพทย์ พยาบาลที่ได้รับการฝึก และประสบการณ์จากรอบแรก พร้อมเวชภัณฑ์ประมาณ 500 เตียง ซึ่งอาจเพิ่มได้ถึง 1,000 เตียง หรือคิดว่าสามารถรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้วันละ 250-500 คน โดยสมมุติฐานที่ว่า มีผู้ติดเชื้อหนักจากผู้มีอาการ 5% และอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 40 วัน และที่ผ่านมาเรามีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 188 รายในวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีการยืนยันการวินิจฉัย และหลังจากนั้นอัตราการพบผู้ติดเชื้อใหม่ก็ลดลงมาทุกวัน จนต่ำกว่า 100 ภายในวันที่ 9 เมษายน และต่ำกว่า 50 ในวันที่ 10 เมษายน เป็นต้นไป รวมทั้งไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน
แนวทางที่ควรจะเป็นไปสำหรับประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่สามารถดูแลให้ประชาชนพ้นโรค และเศรษฐกิจพ้นภัยได้เป็นอย่างดี โดย
- การเปิดประเทศ และติดตามผู้ป่วยใหม่ที่เกิดในประเทศ ให้อยู่ได้ไม่เกิน 300 ราย โดยมีระยะระวังภัย ไม่เกิน 500 รายต่อวัน
- การมีมาตรการดูแลผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้สอดคลอ้งกับมาตรการทางด้านสาธารณสุขของไทย ทั้งมาตรการกักกันโดยรัฐ และส่วนตัว (โดยมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่จากรัฐ ) รวมถึงมาตรการในการให้การรักษาพยาบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้าง MedicalHub และส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจในประเทศเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจให้สามารถอยู่ได้
- การประชาสัมพันธ์โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงอนุรักษ์ เชิงนิเวศน์ และเชิงจิตวิญญาณ (วิถีพุทธฯ) ซึ่งเป็นกระแสของสังคมต่อไปในอนาคต โดยให้สอดคล้องกับความเป็นไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่หาที่อื่นได้ยาก
- การช่วยเหลือการส่งออก และการทำธุรกิจของคนไทย โดยสร้างเสริมศักยภาพทางการแข่งขันในแต่ละธุรกิจ โดยการวิเคราะห์หาทิศทาง และความเป็นไปได้ของธุรกิจในยุค disruption และการทำธุรกิจที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสอดรับกับวัฒนธรรมป๊อบของคนยุคใหม่ รวมถึงสนับสนุนให้ธุรกิจรายใหญ่สามารถไปแข่งขันในประเทศอื่นนอกเหนือจากพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- การเร่งปรับศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตทางภาคเกษตรและสังคม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบกติกาให้สอดคล้องกับโลกใหม่ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยฝึกตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม และทดลองทำสิ่งใหม่ที่แตกต่าง และมองสภาวะ New Abnormal นี้อย่างเข้าใจ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ New Normal ใหม่ที่กำลังจะมากับเทคโนโลยี การไร้เงินสด ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ การทำงานที่บ้าน เป็นต้น
- การปรับเปลี่ยนธุรกิจที่เน้นถึงการลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด การปรับตัวให้ไวหรือมีความยืดหยุ่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการหาทักษะใหม่ที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ให้คนไทยยอมรับตัวเลขการติดเชื้อใหม่ได้ ไม่ใช่แค่เป็นเลข 0 แต่ต้องไม่เกินตัวเลขที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์
(https://minsenconcept.com/การตั้งรับระบาดรอบสองข/)
Cover designed by Freepik