มะเร็งลำไส้ใหญ่กับการดูแลตนเอง

มะเร็ง คือ สภาวะที่เซลล์ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทางที่เป็นอันตราย พร้อมจะมีการแพร่กระจาย และลามเข้าไปสู่เนื้อเยื่ออื่น และกระจายตัวไปได้ไกล มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ มะเร็งที่เกิดที่ส่วนลำไส้ใหญ่จนถึงปลายส่วนที่ติดกับทวารหนัก โดยมากเริ่มจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ๆ ก่อนที่จะขยายขนาด การมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเมื่ออายุมากขึ้นติ่งเนื้อนี้อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้

 

อุบัติการณ์ มักพบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และพบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมดในทั้งชายและหญิง พบมากในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ยุโรปเหนือ ในไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในชาย และอันดับ 5 ของมะเร็งในหญิง พ่อแม่พี่น้องลูกเป็นโรคนี้ 1 คน มีความเสี่ยง 2-3 เท่า

 

อาการที่พบ คือ ท้องผูก ท้องเสีย หรือมีลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนไป เช่น การถ่ายเป็นเลือด ถ่ายไม่สุด อาจมีปวดท้อง แน่นอึดอัดบริเวณท้องเหมือนมีแก๊สในท้อง ในระยะหลัง ๆ มักจะมีน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

สาเหตุ โดยมากไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจพบร่วมกับการกลายพันธุ์ของยีน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และกากใยอาหารต่ำ การอักเสบของลำไส้ หรือพวกที่มีแผลเรื้อรัง เช่น Crohn’s Disease การที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เบาหวานและโรคอ้วน การรับการฉายแสงในการรักษามะเร็งบริเวณช่องท้อง

 

การวินิจฉัย จากอาการท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายผิดปกติ การตรวจเลือดดูระดับของ CEA ซึ่งเป็นสารที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อ ร่างกายเป็นมะเร็ง และยังใช้ในการติดตามการรักษาของโรคในภายหลังได้

 

การป้องกัน

  • การลดอาหารเนื้อแดง เนื้อที่ผ่านกระบวนการ เนื้อสัตว์ที่ผ่านการทอด ปิ้ง หรือย่าง อาหารเค็มหรือหมักดอง อาหารที่มีแป้ง หรือไขมันสูง รวมทั้งลดแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ทานผักผลไม้ที่มีความหลากหลาย มีกากใย เพื่อช่วยการขับถ่าย และมีสารต้านอนุมูลอิสระในผักผลไม้ที่จะช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกกิจกรรมที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน การควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
  • การทานยา Aspirin อาจช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทาน 300-1200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 ปี จะลดความเสี่ยงได้ 37% หากทานต่อเนื่อง 10 ปี จะลดความเสี่ยงได้ 74% (ทานมากกว่า 300 มิลลิกรัม) ซึ่งจะใช้เฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงสูง
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 50 ปี ในกลุ่มเสี่ยง คือ คนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ และตรวจ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ การเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ การส่องกล้องตรวจ และการตรวจ

CEA

การแบ่งเป็นระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ตาม Duke แบ่งได้ 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 0 carcinoma in situ เป็นระยะที่พบเซลล์ผิดปกติ (อาจไม่ใช่มะเร็ง) บริเวณชั้นเยื่อบุผิงด้านในของลำไส้ใหญ่ (ไม่ค่อยแสดงอาการ)

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่มีเซลล์มะเร็งลุกลามจากชั้นบุผิวข้างในไปยังชั้นกล้ามเนื้อ (ไม่มีอาการ)

ระยะที่ 2 มีการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะนี้มีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ได้ถึง 70 %

  • 2A เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปถึงชั้นเยื่อผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่
  • 2B เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามทะลุเยื่อบุด้านนอกของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่มีการลามไปยังอวัยวะข้างเคียง
  • 2C เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามออกมาทะลุเยื่อบุผิวด้านนอก ร่วมกับมีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งมีการแพรก่ระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ลำไส้ใหญ่ ระยะนี้มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ได้ถึง 60 %

  • 3A กระจายอยู่ภายในเยื่อบุด้านในของลำไส้ใหญ่ ไม่เกินชั้นกล้ามเนื้อ และไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงไม่เกิน 3 ต่อม
  • 3B การกระจายทะลุเยื่อบุผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่ และลามไปต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 3 ต่อม
  • 3C การกระจายทะลุเยื่อบุผิวด้านนอกของลำไส้ใหญ่ ร่วมกับลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง 4-6 ต่อม

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือที่อยู่ไกลจากลำไส้ใหญ่ เช่น ไปยังตับ ปอด กระดูก ระยะนี้ยังมีอัตราการอดชีวิตที่ 5 ปี ได้ประมาณ 10%

การรักษา มีทั้งการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายแสงรักษา รวมถึงเทคนิคสมัยใหม่ คือ การรักษาที่สามารถ ทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ เช่น การหยุดการเจริญเติบโตของหลอดเลือดใหม่ที่เข้าไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง การเตรียมภูมิคุ้มกันเลือกเฉพาะเซลล์มะเร็งและทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ทำลายเซลล์มะเร็ง ที่สำคัญ คือ การเน้นการบรรเทาปวด และความทุกข์ทรมานอื่น ๆ ทั้งทางด้านจิตใจ และอารมณ์

การพยากรณ์โรค การรักษาในระยะเริ่มแรกด้วยการผ่าตัดทำให้หายขาดได้ ในรายที่มีการลุกลามออกมาทะลุเนื้อเยื่อด้านนอกของลำไส้และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง การผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด สามารถช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้นานหลายปี โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกหมดหรือไม่ ระดับ CEAในกระแสเลือดก่อนการรักษา การกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงสุขภาพทางกายและจิตใจของผู้ป่วย

ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์

(https://minsenconcept.com/มะเร็งลำไส้ใหญ่-กับการด/)

Cover designed by Freepik

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *