ข้อบังคับของสมาคมเทคโนโลยีสุขภาพไทย

หมวดที่ ๑ : ความทั่วไป

ข้อ  สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมเทคโนโลยีสุขภาพไทย   ใช้อักษรย่อว่า สทสท เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Health Technology Association ใช้อักษรย่อว่า ThaiHTA

ข้อ  เครื่องหมายของสมาคม   มีสัญลักษณ์ดังภาพ โดย รูปหัวใจภายใต้วงกลมที่มาบรรจบกันที่ข้อความ “Thai Health Technology” สีเทาและสีเขียว หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างบุคลากรด้านเทคโนโลยี และบุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อสร้างสรรค์สังคมไทย

ข้อ  สำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 77/102-103 อาคารสินสาธร ชั้น 25 ถนนกรุงธนบุรี แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600

ข้อ  วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังนี้

๔.๑ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ระหว่างสมาชิก และนักวิจัย นักวิชาการ แพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ บุคลากรและองค์กรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการศึกษาและสาธารณประโยชน์แก่สังคมไทย

๔.๒ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพในประเทศไทย ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้จริง หรือต่อยอดและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของคนไทย

๔.๓ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการวิจัยด้านเทคโนโลยีสุขภาพของประเทศ อันได้แก่ การจัดทำวารสารวิชาการ การจัดการประชุมวิชาการ การจัดการอบรมสัมมนา และ/หรือการจัดงานแสดงนิทรรศการต่างๆ

๔.๔ เพื่อส่งเสริมการวางรากฐานด้านวิชาการและบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสุขภาพของประเทศไทยให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

๔.๕ เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และ/หรือองค์กร

การกุศลต่างๆ เพื่อการศึกษาและสาธารณประโยชน์ โดยสมาคมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

หมวดที่ ๒ : สมาชิก

ข้อ ๕ สมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๕.๑. สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ที่สนใจในกิจกรรมของสมาคม และสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ซึ่งได้ยื่นความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ และคณะกรรมการสมาคม ลงมติอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิกสามัญ

๕.๒. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย และได้ยื่นความจำนงขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมรายปี และคณะกรรมการลงมติอนุมัติเข้าเป็นสมาชิกวิสามัญ

๕.๓. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติหรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ และบุคคลนั้นตอบรับเชิญ

ข้อ ๖ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

๖.๑    บุคคลธรรมดา

(๑) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
(๒) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีประวัติที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย
(๓) ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง
(๔) ไม่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลให้เป็นบุคคลล้มลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เคยต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา การต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดของศาลและการได้รับโทษจำคุกในกรณีดังกล่าวข้างต้น จะต้องเป็นอยู่ในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือเป็นอยู่ในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

๖.๒   นิติบุคคล

(๑) ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล  หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด  หรือบริษัทมหาชน  หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทย และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

(๒) ต้องไม่ประกอบธุรกิจใดๆ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

(๓) เป็นนิติบุคคลที่คณะกรรมการสมาคมพิจารณาเห็นสมควรให้เป็นสมาชิกได้

ข้อ ๗  ค่าลงทะเบียน และ ค่าบำรุงสมาคม
๗.๑ สมาชิกสามัญ

ค่าบำรุงสมาคมตลอดชีพ ค่าลงทะเบียนครั้งแรก สมาชิกสามัญ
๑,๐๐๐ บาท ๑๐๐ บาท ประเภทบุคคล
๓๐,๐๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ประเภทนิติบุคคล(สัญชาติไทย)

๗.๒ สมาชิกวิสามัญ

ค่าบำรุงสมาคมรายปี ปีละ ค่าลงทะเบียนครั้งแรก สมาชิกวิสามัญ
๒๐๐ บาท ๑๐๐ บาท ประเภทบุคคล
๕,๐๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ประเภทนิติบุคคล(สัญชาติไทย)

 

๗.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ ๘  การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัคร ตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๑ คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ ๙  ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๑๐ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม

ข้อ ๑๑ สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
๑๑.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก
๑๑.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม

ข้อ ๑๒  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
๑๒.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
๑๒.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
๑๒.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๔ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิก กิตติมศักดิ์ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๕ สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๑๒.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
๑๒.๗ สมาชิกมีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๑๒.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๒.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๒.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
๑๒.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๒.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ ๓ : การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ ๑๓  ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๙ คน อย่างมากไม่เกิน ๑๕ คน คณะกรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกกันเองให้ดำรงตำแหน่งทางบริหาร ดังนี้ เป็นนายกสมาคม ๑ คน  และเป็นอุปนายกที่ระบุลำดับตำแหน่ง อย่างน้อย ๒ คน แต่ ไม่เกิน ๔ คน สำหรับตำแหน่งบริหารในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
๑๓.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคม ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่ เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๓.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกสมาคมตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
๑๓.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม
๑๓.๔ เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๓.๕ นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๓.๖ ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
๑๓.๗ กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่ง คณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

กรรมการผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งบริหารตามข้อนี้ ให้สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งบริหารพร้อมกับการสิ้นสุดการเป็นกรรมการของกรรมการผู้นั้นด้วย

ข้อ ๑๔  กรรมการสามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้วาระละ ๒ ปี เมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ ๑๕  ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควร เข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๑๖  กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
๑๖.๑ ตาย
๑๖.๒ ลาออก
๑๖.๓ ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามกฎหมายที่กำหนดไว้
๑๖.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจากเป็นผู้มีความประพฤติและปฎิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียต่อสมาคม

ข้อ ๑๗ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ ๑๘ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๘.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๘.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๘.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

๑๘.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดเข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๘.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๘.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้ทราบ
๑๘.๑๑ มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยไตรมาสละ ๑ ครั้ง โดยเลขานุการสมาคมเป็นผู้เชิญประชุม ตามความเห็นชอบของนายกสมาคม ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๔ : การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๒ การประชุมใหญ่ของสมาคม ๒ ชนิด คือ
๒๒.๑ ประชุมใหญ่สามัญประจำปี
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๒๓ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ภายในเดือน มีนาคม ของทุกๆ ปี หากจำเป็นอาจเลื่อนได้ตามความเหมาะสม

ข้อ ๒๔ การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการของสมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด

เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคแรก  ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสองสมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอให้เรียกประชุมหรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้

ข้อ ๒๕ การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกทุกคนซึ่งมีชื่อในทะเบียนของสมาคมได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และการประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่หรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า ๗  วันก็ได้

ข้อ ๒๖ การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๖.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
๒๖.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๖.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ

๒๖.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

๒๖.๕ ตรวจสอบทะเบียนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
๒๖.๖ เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี

ข้อ ๒๗ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม หากเมื่อถึงกำหนดเวลาการประชุมยังมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม  ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งนั้นเป็นการประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องของสมาชิกก็ให้งดการประชุม  แต่ถ้าเป็นกรณีการประชุมใหญ่ที่คณะกรรมการสมาคมเป็นผู้เรียกประชุม  ก็ให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก  การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม

การประชุมทุกครั้งต้องมีการลงลายมือชื่อผู้เข้าประชุมและสมาชิกผู้เข้าประชุมต้องแสดงเอกสารบัตรประจำตัวประชาชนประกอบการลงลายมือชื่อ  หากสมาชิกเป็นนิติบุคคลต้องมีหลักฐานแสดงการเป็นผู้มีอำนาจหรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นหรือผู้แทนผู้รับมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจประกอบการลงลายมือชื่อผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

ข้อ ๒๘ การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น  แต่ถ้าการประชุมคราวนั้นก็ไม่มีกรรมการเข้าร่วมประชุมเลย ก็ให้ที่ประชุมใหญ่เชิญสมาชิกสามัญที่มีอาวุโสสูงที่สุด ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ ๕ : การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ ๓๐ การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการสมาคม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน)   สาขา  ดาวคะนอง หรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๑ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือ ผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเลขานุการ หรือ เหรัญญิก พร้อมกับประทับตราของสมาคม จึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ ๓๒ ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๓๓ ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดย่อยของสมาคมได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้ จะต้องนำมาฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ให้เลขานุการ มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดย่อยของสมาคมได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ ๓๔ เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ ๓๕ ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๓๖ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ ๓๗ คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ ๓๘ วันสิ้นสุดรอบทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี

หมวดที่ ๖ : การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ ๓๙ ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ ๔๐ การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๔๑ เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อการส่งเสริมสนับสนุนงานด้านเทคโนโลยีสุขภาพต่อไป หรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ ตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

หมวดที่ ๗ : หมวดนายกสมาคม

ข้อ ๔๒ นายกสมาคม สามารถดำรงอยู่ในตำแหน่งได้วาระละไม่เกิน ๒ ปี แต่ไม่เกิน ๒ วาระติดต่อกัน

ข้อ ๔๓ การดำรงตำแหน่งของนายกสมาคม อาจสิ้นสุดลงก่อนครบวาระเมื่อ

๑) ตาย

๒) ลาออก

๓) ขาดคุณสมบัติการเป็น สามัญสมาชิกหรือกรรมการของสมาคม

๔) ถูกถอดถอนโดยมติของที่ประชุมใหญ่ หรือถูกมติให้ออกโดยคณะกรรมการสมาคมที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการสมาคมที่มีอยู่ในขณะนั้น

๕) ตำแหน่งกรรมการสมาคมว่างลงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ที่ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมแต่งตั้ง

ข้อ ๔๔ เมื่อการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมสิ้นสุดลงเมื่อใด ให้การดำรงตำแหน่งทางบริหารทุกตำแหน่งของสมาคมในขณะนั้นสิ้นสุดลงพร้อมกันด้วย หากการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

๑)    ภายในเวลาไม่เกิน ๗ วัน นับแต่วันที่การดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนก่อนสิ้นสุดลง ให้กรรมการที่มีอยู่ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งกันเอง โดยเลือกจากกรรมการที่มีอยู่เป็นนายกสมาคม ๑ คน และเป็นอุปนายกที่ระบุลำดับตำแหน่ง อย่างน้อย ๒ คน แต่ไม่เกิน ๔ คน สำหรับตำแหน่งบริหารในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เป็นผู้แต่งตั้งจากกรรมการสมาคมเท่าที่มีอยู่

๒)    ให้นายกสมาคมที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ เป็นนายกสมาคมรักษาการและอยู่ในวาระเพียงระยะเวลาเท่าที่เหลืออยู่ของนายกสมาคมคนก่อนที่ได้สิ้นสุดวาระลงก่อนครบวาระนั้น

๓) ให้นายกสมาคมรักษาการ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานของสมาคม เช่นเดียวกับนายกสมาคม

๔) การทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมรักษาการ มิให้ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งนายกสมาคม อันต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ๒ วาระติดต่อกัน

หมวดที่ ๘ : บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ ๔๕ การตีความข้อบังคับของสมาคม  หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด

ข้อ ๔๖  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ  ในเมื่อข้อบังคับของสมาคมมิได้กำหนดไว้  และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อ ๔๗ สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน  หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง

หมวดที่ ๙ : บทเฉพาะกาล

ข้อ ๔๘ ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มบังคับใช้ได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๔๙ เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป