จากการระบาดของ COVID ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่มีมากเป็นพิเศษถึง 2,070 ราย ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย และในวันที่ 24 เมษายน ยังเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,839 ราย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็มีการเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากขึ้นถึง 740 ราย และ 1582 รายในวันที่ 24 เมษายน ทำให้คนทั่วไป รวมทั้งคนในจังหวัดใหญ่ที่มีการติดอย่างมาก เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ ชลบุรี และนนทบุรี มีความวิตกกังวลค่อนข้างมาก จึงขอนำเรื่องความรู้เกี่ยวกับCOVID มาทบทวนให้ผู้อ่านได้รับรู้ เพื่อลดความวิตกกังวลลงได้
เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 9 สายพันธุ์ ไวรัสนี้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต แต่เป็นโมเลกุลของโปรตีนที่ปกคลุมด้วยชั้นของไขมัน ซึ่งเมื่อดูดซึมโดยเซลล์ของร่างกายเราแล้ว โดยเฉพาะในกระพุ้งแก้มจะเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม (กลายพันธุ์) แปลงเป็นเซลล์ผู้รุกรานที่พร้อมจะขยายตัวในเซลล์ต่อไปได้ และด้วยการที่มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิต จึงไม่สามารถฆ่าได้แต่มันจะสลายไปเอง โดยการสลายจะขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น และประเภทของวัตถุที่อยู่
- ไวรัสชนิดนี้มีความเปราะบางมาก ด้วยมันมีเพียงชั้นไขมันบาง ๆ ปกป้อง จึงถูกทำลายได้ด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก ดังนั้นการล้างมือด้วยสบู่ โดยใช้เวลาในการถูมือประมาณ 20 วินาที สามารถละลายชั้นไขมันโมเลกุลของโปรตีน ทำให้มันแตกตัวไม่คงสภาพเดิมและสลายไปได้
- ไวรัสชนิดนี้แพ้ความร้อน เนื่องจากความร้อนจะละลายไขมัน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในน้ำที่อุณหภูมิสูงกว่า 77 องศาเซลเซียส นั่นคือเสื้อผ้าที่ซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำร้อน ก็สามารถทำให้ไวรัสนี้สลายตัวไป
- ไวรัสชนิดนี้ไม่ชอบแอลกอฮอล์ 65 % ขึ้นไป เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ไขมันแตกสลาย โดยเฉพาะไขมันที่เคลือบไวรัสนี้ ส่งผลทำให้ไวรัสนี้แตกสลายไปเช่นกัน
- ไวรัสชนิดนี้ไม่ชอบสารฟอกขาว ซึ่งมักจะเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับคลอรีน โดยมีส่วนผสม 1:5 สารละลายนี้จะไปละลายโปรตีนโดยตรงโดยทำลายจากด้านใน นั่นคือสารฟอกขาวในการซักผ้าก็สามารถช่วยฆ่าเชื้อได้เลย
- ไวรัสชนิดนี้ไม่ทนต่อรังสี UV ที่มีความยาวคลื่นสั้น คือช่วง 200-313 นาโมเมตร โดยค่าที่ดีที่สุดอยู่ที่ 260 นาโนเมตร ซึ่งเป็นการทำลายโครงสร้างของไวรัส ทำให้ไม่สามารถจำลองตนเองเพื่อขยายจำนวนต่อไปได้ แต่ UV ก็มีอันตรายต่อผิวและดวงตาได้ หากแสงส่องโดนผิวหนังโดยตรง จึงเหมาะกับการใช้กับสิ่งของ
อาการของ COVID องค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ติดเชื้อจะมีอาการเริ่มแรก คือ มีไข้ ตามมาด้วยอาการไอแห้ง ๆ หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์จะมีปัญหาหายใจติดขัด หายใจถี่ และลำบาก มีอาการเมื่อยล้า ผู้ป่วยอาการหนักจะมีอาการปอดบวมอักเสบร่วมด้วย และรุนแรงมากจนทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว แต่โดยมากคือ 80 % ไม่มีอาการรุนแรง 14 % มีอาการรุนแรง และ 6 % เท่านั้นที่มีอาการวิกฤติ อัตราเสียชีวิตของโรคนี้อยู่ในระดับต่ำเพียง 1-2 % กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ป่วยอ้วน ฯลฯ
การตรวจหาเชื้อมีหลายวิธี การตรวจเชื้อโดยตรง เช่น RT-PCR, INAA และ antigen เป็นวิธีตรวจสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส ในระยะที่สามารถตรวจจับไวรัสได้ ไวรัสจะถูกพบในลมหายใจส่วนบนและลดลงหลังเริ่มป่วย โดยสามารถถ่ายแบบตนเองแต่ยังไม่สามารถเพาะได้หลังจากเริ่มป่วย 9 วัน ซึ่งการเพาะไวรัสจากตัวอย่างทางเดินลมหายใจส่วนบนจะไม่สำเร็จถ้าไวรัสยังน้อย หลังจากฟื้นสภาพจากการเจ็บป่วย คนไข้จำนวนมากจะไม่มี RNA ไวรัสที่ตรวจจับได้ในตัวอย่างทางเดินหายใจส่วนบน นั่นคือเรามีความรู้ในการตรวจวินิจฉัยค่อนข้างดี และมีความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย
การรักษา FDA สหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับการใช้ยา Remdesivir (Veklury) ในการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป และมีการใช้ยา Baricitinib (Olumiant) โดยยานี้จะช่วยลดการอักเสบร่วมกับการช่วยกำจัดไวรัสได้ด้วย โดยแนะนำให้ใช้ร่วมกับ Remdesivir โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมียากลุ่ม Monoclonal Antibody ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส การใช้ยา Bamlanivimab ร่วมกับ Etesevimab หรือการใช้ยา Casirivimab และ Imdevimab ซึ่งเหมาะกับคนที่มีอาการไม่มาก แต่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยอย่างรุนแรง ซึ่งแม้แต่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้ใช้ยาเหล่านี้ และก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เป็นอย่างดีภายใน 3 วัน รวมถึงการใช้ยาCortocosteeroid ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่ต้องใช้ออกซิเจนและเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงยอมรับการใช้ Plasma Therapy ในการรักษา ซึ่งคือการนำพลาสมาจากเลือดในผู้ป่วยที่หายดีแล้วจากการติดเชื้อ COVID
ในกรณีที่ต้องดูแลคนที่ติด COVID ในบ้านก็ต้องมีพื้นที่แยกผู้ป่วยให้ห่างจากคนทั่วไป โดยให้อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เปิดหน้าต่างบ่อย ๆ แจ้งเตือนคนที่อยู่ในบ้านนั้นไม่ให้มีการติดต่อ หรือสัมผัสกับผู้ป่วย ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในห้องผู้ป่วย แยกจาน ถ้วย ช้อน ส้อม รวมทั้งเครื่องนอน และทำความสะอาดอุปกรณ์เหล่านั้นด้วยน้ำยาที่มีฟอง (สบู่ ผงซักฟอก) รวมถึงล้างมือบ่อย ๆ และเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 65 % ขึ้นไป ส่วนการดูแลผู้ป่วยด้วยการตรวจวัดอาการต่าง ๆ ของเขา และหากมีอาการหายใจลำบาก สับสน ไม่พูดจา หรือเคลื่อนไหว มีอาการเจ็บแน่นอก เป็นสัญญาณอันตราย ควรเรียกหน่วยกู้ชีพทันที หรือโทร 1669
หากต้องไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ควรจะยกเลิกหากรู้สึกไม่สบาย หรือสงสัยว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID และควรรายงานหน่วยแพทย์หากเรามีความเสี่ยงในการติดต่อกับผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการบอก Timeline การเดินทาง และหากจำเป็นก็ต้องไปตรวจหาเชื้อ รวมถึงการแยกตนเองออกจากสังคม และทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้คน ใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ในห้องต่าง ๆ ที่เราใช้โดยเฉพาะลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ รวมถึงอธิบายว่าเรามีความเสี่ยงอะไร เพื่อทำให้คนรอบตัวไม่ต้องวิตกกังวลมาก รวมถึงสามารถสื่อสารกันได้ด้วยโทรศัพท์ หรือ Video call
การออกไปซื้อของควรเลือกเวลาที่คนไม่มากนัก และควรทำการแจ้งตำแหน่งตามกฎของสถานที่นั้น ๆ เพื่อให้ทราบว่าเราเข้าไปในพื้นที่นั้น (ในกรณีที่มีการระบาด จะได้สามารถแจ้งเตือนเราได้) สวมหน้ากาก และนำน้ำยาทำความสะอาดมือไปด้วย และอยู่ในพื้นที่นั้นให้สั้นที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
นั่นคือ เราทราบรายละเอียดของไวรัส รู้ปัญหาของไวรัส อาการการติดเชื้อ การตรวจวินิจฉัย และการรักษาได้อย่างดีแล้ว เมื่อเทียบกับในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามหากมีผู้ติดเชื้อมากเกินไป ก็จะเป็นการรบกวนต่อกระบวนการสาธารณสุข ทั้งในด้านการตรวจวินิจฉัย และการรักษา เพราะเมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อมาก ก็จะรบกวนพื้นที่ของโรงพยาบาลที่จะใช้รักษาคนทั่วไป รวมถึงการครองพื้นที่และเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงสร้างปัญหาที่จะเยียวยา ซึ่งสิ่งที่จะช่วยลดการเข้ามาของผู้ป่วย คือ การรับวัคซีน เพื่อให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรค อย่างไรก็ตามการรับวัคซีนแล้วก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะไม่ติดเชื้ออีก แต่มีผลเพื่อให้โอกาสติดเชื้อนั้นไม่รุนแรง และติดเชื้อน้อยลง ข้อมูลในสิงคโปร์ก็ยืนยันว่ามีการติดเชื้อซ้ำในคนงานที่เคยติดเชื้อแล้วในปีที่แล้ว นั่นคือการฉีดวัคซีนมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องฉีดซ้ำทุกปีคล้ายกับไข้หวัดใหญ่
การป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการหลีกเลี่ยงการเข้าอยู่ในสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ปิด และใช้เครื่องปรับอากาศ ถ้าหากจำเป็นจะต้องไป ก็ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่นั้นให้น้อยที่สุด (ปลอดภัยด้วยการอยู่ในพื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทดี) ใช้หน้ากากอนามัยในการปิดปากและจมูก ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาจามและไอ ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วและล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ ไม่สัมผัสตา จมูก และปากเมื่อยังไม่ได้ล้างมือ เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ไม่สบาย และเว้นระยะห่างกันในสังคมอย่างน้อย 2เมตร
ข้อมูลจาก : นพ.ธิติวัฒน์ ประชาธำรงพิวัฒน์
(https://minsenconcept.com/ทบทวนเรื่องราว-covid-19/)
Cover designed by Freepik